top of page
ฝน
ไอน้ำในอากาศที่รวมกันเป็นเมฆ เมื่ออนุภาคของน้ำหรือเกล็ดน้ำแข็งในเมฆมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความหนาแน่นและมีน้ำหนักมากขึ้นจนอากาศไม่สามารถอุ้มน้ำหรือเกล็ดน้ำแข็งไว้ได้ จึงตกลงมายังพื้นโลกในรูปต่างๆ เช่น เป็นฝน หิมะ หรือลูกเห็บ ซึ่งเรียกว่า หยาดน้ำฟ้า
1. การเกิดฝน
ฝนเป็นน้ำที่เกิดจากกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศที่รวมกันเป็นเมฆกลายเป็นหยดน้ำ เมื่อหยดน้ำมีขนาดใหญ่และ มีน้ำหนักมากจนอากาศไม่สามารถอุ้มไว้ได้ จึงตกเป็นฝน โดยเฉลี่ยเม็ดฝนจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 0.5 มิลลิเมตร ถ้าต่ำกว่า 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถลอยปลิวไปตามกระแสลมได้เรียกว่า ฝนละออง ส่วนเม็ดฝนขนาดใหญ่และตกลงมา ในระยะเวลาสั้น ๆ เรียกว่า ฝนไล่ช้างหรือฝนซู่ เป็นฝนที่ตกหนักในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหยุดทันที
2. ชนิดของฝน ฝนมีลักษณะการเกิดที่แตกต่างกัน แบ่งออกได้ 4 ชนิด ดังนี้
2.1 ฝนพาความร้อน เป็นฝนที่เกิดจากเมฆที่ก่อตัวขึ้นจากมวลอากาศร้อนและลอยตัวขึ้นสูงจนไปกระทบกับอากาศเย็น ทำให้เกิดฝนตกลงมา ฝนพาความร้อนมักจะตกในตอนบ่ายหรือตอนค่ำ เวลาฝนตกจะมีพายุ
ฟ้าแลบ และฟ้าร้องเกิดขึ้นเรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนอง ในประเทศไทยฝนชนิดนี้จะพบมากในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม
2.2ฝนภูเขา เป็นฝนที่เกิดจากมวลอากาศชื้นไหลมาปะทะภูเขาที่ขวางกั้นทิศทางลมมวลอากาศจะถูกยกตัวให้สูงขึ้นและเย็นลง ไอน้ำจึงกลั่นตัวกลายเป็นเมฆหนาทึบและตกลงมาเป็นฝน โดยฝนจะตกหนักทางด้านต้นลมแต่ทางด้านปลายลมฝนจะตกน้อยลง เรียกว่า เงาฝน
2.3 ฝนพายุหมุน เป็นฝนที่เกิดจากพายุหมุนที่มีมวลอากาศไหลเข้าสู่ศูนย์กลางหย่อมความกดอากาศต่ำ มวลอากาศที่ไหล เข้ามาจะถูกยกตัวให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นเมฆหนาทึบและตกลงมาเป็นฝน ฝนชนิดนี้จะตกหนักแผ่เป็นบริเวณกว้างและจะตกติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ฝนจากพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น
2.4 ฝนแนวปะทะเป็นฝนที่เกิดจากมวลอากาศร้อนกับมวลอากาศเย็นเคลื่อนมาปะทะกัน มวลอากาศเย็นจะดันให้มวลอากาศร้อนที่ชุ่มชื้นและเบากว่าลอยขึ้นสู่เบื้องบน ไอน้ำในมวลอากาศร้อนจะกลั่นตัวกลายเป็นเมฆและตกลงมาเป็นฝน ฝนแนวปะทะจะตกไม่รุนแรงนักแต่ตกสม่ำเสมอและติดต่อกันเป็นเวลานาน
bottom of page